61 จำนวนผู้เข้าชม |
ท่อเฟล็กซ์ ท่อร้อยสายไฟ หรือ Flexible Conduit คือ ท่อชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับหุ้มสายไฟฟ้า มีหน้าที่ร้อยสายไฟหรือสายสัญญาณให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และที่สำคัญคือ ท่อร้อยสายไฟยังช่วยป้องกันอันตราย ในกรณีที่อาจเกิดไฟฟ้าดูดหรือไฟรั่ว ทั้งยังช่วยลดการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ รวมถึงป้องกันการโดนสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อาจทำให้สายไฟเกิดความเสียหาย เช่น น้ำ สัตว์กัดแทะ เป็นต้น
หลายครั้งที่ช่างไฟฟ้าเลือกใช้ ท่อร้อยสายไฟ เพื่อทำให้สายไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ดูเกะกะหรือรกสายตา นอกจากนี้ ท่อร้อยสายไฟยังมีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น มาลองดูกันว่าท่อร้อยสายไฟคืออะไร มีกี่ประเภท แล้วงานระบบไฟฟ้าแบบไหนถึงควรเดินสายไฟด้วยท่อร้อยสายไฟ
ประเภทของท่อร้อยสายไฟ และการใช้งานที่เหมาะสม
สำหรับท่อร้อยสายไฟฟ้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ตามวัสดุในการผลิต
ท่อร้อยสายไฟฟ้า ประเภทพลาสติก
1. ท่อพลาสติก PVC เป็นท่อร้อยสายไฟฟ้าที่ทำจากพลาสติกประเภท PVC ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ ความทนทานต่อความชื้น ทำให้ตัวท่อไม่ขึ้นสนิม
- ท่อพลาสติก PVC สีขาว เหมาะสำหรับการเดินลอย การร้อยสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ นิยมใช้ในงานต่อเติมหรือดีไซน์ สามารถดัดเย็นได้สูงสุดถึง 90 องศา
- ท่อพลาสติก PVC สีเหลือง เหมาะสำหรับการเดินฝังบนผนัง เน้นความเป็นฉนวนไฟฟ้า มีจุดเด่นคือ ไม่นำไฟฟ้าและลามไฟ แต่ไม่ทนต่อรังสี UV
2. ท่อพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene)
เป็นท่อร้อยสายไฟที่มีความแข็งแรง และความอ่อนตัวในระดับหนึ่ง มีน้ำหนักเบา จึงทำให้ส่งผลต่อการใช้งานที่ยาวนาน โดยส่วนมากจะนิยมใช้ในงานที่ต้องการความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ อย่างเช่น การใช้งานในพื้นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน โดยตัวท่อมีขนาดตั้งแต่ 1/2 นิ้วขึ้นไป
3. ท่อพลาสติก EFLEX (Flexible Conduit)
เป็นท่อพลาสติกที่ทำจาก PA หรือ PE ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความอ่อนตัว ทนทาน รองรับการโค้งงอได้ดี และที่สำคัญคือ ไม่ลามไฟและติดไฟ
ท่อร้อยสายไฟ ประเภทโลหะ
1.ท่อโลหะขนาดบาง (EMT หรือ Electrical Metallic Tubing)
สำหรับท่อโลหะขนาดบาง หรือ ท่อร้อยสายไฟ EMT มีขนาดตั้งแต่ 1/2 – 2 นิ้ว จะนิยมติดตั้งแบบเดินลอยภายในอาคาร หรือการซ่อนในฝ้า ห้ามใช้ฝังดินหรือการฝังในผนังคอนกรีตอย่างเด็ดขาด
2. ท่อโลหะขนาดกลาง (IMC หรือ Intermediate Conduit)
เป็นท่อร้อยสายไฟชนิดโลหะที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดบางเพียงเล็กน้อย ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 1/2 – 4 นิ้ว โดยส่วนมากจะนิยมใช้ฝังในผนัง เดินลอยนอกอาคาร หรือฝังในพื้นคอนกรีต
3. ท่อโลหะหนาพิเศษ (RSC หรือ Rigid Steel Conduit)
เป็นท่อร้อยสายไฟที่มีลักษณะและการติดตั้งเหมือนกับท่อขนาดกลาง (IMC) แต่จะมีความแข็งแรงมากกว่า และมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่ขึ้นมา 1/2 – 6 นิ้ว
4. ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit)
สำหรับท่อชนิดนี้ทำจากโลหะ เช่น สเตนเลส มีความแข็งแรงพอสมควร และสามารถรองรับการโค้งงอได้ ตัวท่อมีขนาดตั้งแต่ 1/2 – 4 นิ้ว แต่มีข้อจำกัดคือ ป้องกันของเหลวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนมากนิยมติดตั้งท่อร้อยสายไฟเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น การต่อเข้ากับดวงโคม เครื่องจักรที่มีการสั่นสะเทือน หรือแต่การต่อเข้ากับมอเตอร์
5. ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ (Raintight Flexible Metal Conduit)
จะมีลักษณะคล้ายกับท่อโลหะอ่อน แต่ตัวท่อจะถูกหุ้มด้วยพลาสติก PVC นั่นหมายความว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกันน้ำและความชื้นได้ ซึ่งส่วนมากจะนิยมใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องติดตั้งในจุดที่มีความชื้นโดยเฉพาะ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น แต่ข้อจำกัดคือ ไม่ควรติดตั้งในจุดที่มีความร้อนสูง เพราะอาจจะทำให้พลาสติก PVC ที่หุ้มท่อละลายได้นั่นเอง ทั้งนี้ ตัวท่อร้อยสายไฟชนิดนี้มีขนาดตั้งแต่ 1/2 – 4 นิ้ว
ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ท่อร้อยสายไฟ
ข้อดีจากการใช้ท่อร้อยสายไฟ
ทำให้การเดินสายไฟมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และดูสวยงาม
ป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หรือสายไฟโดนทำลายจากสิ่งต่าง ๆ เช่น น้ำ ของเปลว ฝุ่น สารเคมี และสัตว์กัดแทะ
ป้องกันความสุ่มเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดประกายไฟเฉพาะภายในท่อ
ข้อเสียจากการใช้ท่อร้อยสายไฟ
ใช้เวลาในการดำเนินการที่นานมากกว่า ทำให้เพิ่มระยะเวลาในการดำเนินงาน
ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และสูงกว่าการเดินสายไฟแบบเปลือย
เมื่อต้องซ่อมแซมหรือแก้ไข จะใช้เวลาในการทำงานมากขึ้นและยากกว่า
ผลกระทบเมื่อใช้ท่อร้อยสายไฟที่ไม่มีมาตรฐาน
หากต้องการใช้ท่อร้อยสายไฟ ก็ควรเลือกใช้ให้ถูกกับประเภทของการใช้งาน ที่เหมาะสมตามลักษณะของท่อแต่ละประเภท ที่อธิบายไปแล้วในข้างต้น เพราะท่อร้อยสายไฟจะมีหลายประเภท และช่วยทำให้การเดินสายไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ได้ แต่ก็อย่าลืมว่า หากใช้ท่อร้อยสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมส่งผลกับระบบไฟฟ้าหรือสายไฟเช่นกัน เช่น
- ท่อร้อยสายไฟอาจเปราะและแตกได้ จนทำให้มีสัตว์กัดแทะหลุดเข้าไปโดนสายไฟได้
- ในกรณีที่ใช้ท่อร้อยสายไฟสำหรับใช้ในอาคาร ไปใช้บริเวณภายนอกอาคาร เมื่อโดนรังสี UV หรือความร้อนมาก ๆ ก็อาจส่งผลให้ท่อร้อยสายไฟกรอบแตกได้ จนอาจส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมา
- หากท่อที่ใช้ไม่มีมาตรฐาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟรั่วได้ จนส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- ต้องเสียเวลาในการติดตั้งหรือแก้ไขท่อร้อยสายไฟใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
ดังนั้นการใช้งาน ท่อร้อยสายไฟ ท่อเฟล็กซ์ในงานระบบไฟฟ้าต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเลือกใช้ท่อร้อยสายไฟที่มีมาตรฐาน ใช้ถูกต้องตามลักษณะของการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ท่อร้อยสายไฟกรอบแตก และยังช่วยให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนเดินสายไฟที่ดี ควรต้องมีการวางแผนเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างที่ดี เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้ในอนาคต